วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559

เฟสบุ๊ค(Facebook) กับการสื่อสารในชั้นเรียน

นางสาวมรกต   ใจดี รหัสนิสิต 58207271

เฟสบุ๊ค(Facebook) กับการสื่อสารในชั้นเรียน



          การสื่อสารและข้อมูลนับเป็นหลักฐานแสดงถึงความมีอยู่ของสังคมมนุษย์และสะท้อนให้เห็นความสำคัญของโลกออนไลน์ที่การปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นผ่านการสื่อสารข้อมูลข่าวสารด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ แม้ช่องทางและเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไป แต่ความสัมพันธ์และเนื้อหาสาระไม่ได้ต่างไปจากเดิมมากนัก การสื่อสาร คือ กระบวนการที่ไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ด้วยลักษณะที่เป็นพลวัต ทำให้ไม่สามารถนิยามหรือให้ความหมายของการสื่อสารได้ดีที่สุด ชัดเจนที่สุด กระบวนการสื่อสารจึงเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายในบุคคล เช่น ทัศนคติ การมองโลก แรงจูงใจ ความรู้ ความสามารถ และตามการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอก สถานที่ บริบท เวลา สถานการณ์ และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ การนิยาม การสื่อสารจึงได้มากมายขึ้นอยู่กับการมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการสื่อสาร หรือการสื่อสารถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในกระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง ซึ่งมีกระบวนการสื่อสารเกิดขึ้นภายในกระบวนการนั้น ๆ (บุคลิกภาพและความสามารถในการสื่อสารจากวัยเด็กสู่วัยทำงาน 2558,18-20)

ระบบติดต่อสื่อสารที่ได้รับความนิยมที่สุดในเวลานี้ คือ Social Network ระบบสื่อสารออนไลน์ที่เชื่อมต่อข้อมูลและข่าวสารของทุก ๆ คนที่เป็นสมาชิกไว้ ทำให้สามารถติดต่อสื่อสารกันผ่านทางเว็บส่วนตัวได้ตลอดเวลา เว็บไซต์ Social Network นั้นพยายามให้ผู้ใช้เข้ามามีบทบาทกับเว็บไซต์มากขึ้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการติดต่อสื่อสารเป็นอย่างมาก เพียงแค่เราฝากข้อความ รูปภาพ หรือประกาศไว้บนเว็บไซต์ ผู้อื่นก็สามารถเข้ามาอ่าน ดูรูปภาพ และแสดงความคิดเห็นได้ทันที และเราก็สามารถไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ Social Network ของผู้อื่นได้เช่นกัน (สนุกกับเฟสบุ๊ค 2552, 3) Social Network ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันนี้ คือ เครือข่ายเฟซบุ๊ค (Facebook), ทวิตเตอร์ (Twitter), ยูทูบ (Youtube), กูเกิล พลัส (GooglePlus) และอินสตาแกรม (Instagram) โดยเครือข่ายสังคมออนไลน์(Social Network) ถือเป็นส่วนหนึ่งของสื่อใหม่ หรือ New Media หากผู้เขียนซึ่งมีอาชีพเป็นครูตั้งคำถาม ถามนักเรียนว่า ในห้องนี้มีใครใช้บริการเฟสบุ๊คบ้าง? ถ้ามีนักเรียนคนใด คนหนึ่งในชั้นเรียน ตอบว่า ไม่เคยใช้ เฟสบุ๊ค คงเป็นคนที่ล้าสมัย เพราะนักเรียนส่วนมากใช้บริการ เฟสบุ๊ค เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกันในปัจจุบัน

เว็บไซต์เฟสบุ๊ค นั้นสร้างขึ้นโดย มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (Mark Zuckerburg) จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนั้นมาร์คมีอายุเพียง 20 ปี ก่อนที่มาร์คจะมาทำ เฟสบุ๊ค เขาเคยทำ เว็บไซต์ Facemash ซึ่งสร้างไว้สำหรับให้คนเข้าไปโหวตรูปที่ชอบ ซึ่งการที่เขาทำเว็บไซต์นี้ ทำให้เขาถูกคณะกรรมการโรงเรียนเรียกไปสอบสวนถึงวิธีการหารูปมาแสดงในเว็บไซต์ว่าเป็นรูปผิดกฎหมายหรือไม่ หลังจากนั้น มาร์คจึงได้หันมาทำเว็บไซต์เฟสบุ๊ค ซึ่งเดิมทีเป็นเพียงเว็บสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเพื่อนในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ถึงแม้พ่อแม่ของมาร์คจะคัดค้านว่าเป็นการหาเรื่องใส่ตัวอีกครั้ง แต่เพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยของเขากลับให้ความสนใจและเข้าร่วมในเฟสบุ๊คกันมากมาย และเมื่อมีสมาชิกเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มาร์คจึงตัดสินใจนำเงินค่าเทอมทั้งหมดไปซื้อเซิร์ฟเวอร์สำหรับทำเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค โดยเฉพาะเว็บไซต์ เฟสบุ๊ค เริ่มแพร่หลายไปยังมหาวิทยาลัยดัง ๆ เช่น แสตมปฟอร์ด, โคลัมเบีย, เยล ฯลฯ ทำให้มียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกมากมาย จากนั้นมาร์คได้ตัดสินใจตั้งบริษัทของตัวเองขึ้นมา โดยใช้ชื่อวา theFacebook.com และได้เปลี่ยนชื่อเป็น Facebook ในเวลาต่อมา (FACEBOOK LINE INSTAGRAM 2557, 6)

          ปัจจุบันเฟซบุ๊คได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น จากความนิยมของเฟซบุ๊คทำให้ในปัจจุบันครูและนักเรียนมีบัญชีผู้ใช้เฟซบุ๊คเป็นของตัวเอง ด้วยจุดเด่นที่เฟซบุ๊คใช้งานง่าย ขยายเครือข่ายและเพื่อนได้จำนวนมาก เฟซบุ๊คจึงเป็นสื่อออนไลน์ที่กระแสมาแรงและเป็นที่นิยมมาก และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและประสิทธิภาพของการติดต่อสื่อสารที่การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่ง หากเราสามารถนำคุณประโยชน์ของเฟซบุ๊คมาใช้ในการศึกษาอย่างเป็นระบบแล้ว  จะทำให้ระบบการสื่อสารทางการศึกษาได้อย่างมีคุณค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ (การใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางการสื่อสารการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ ใน วารสารนิเทศศาสตร์ ธุรกิจบัณฑิตย์ 2556, 79)

ข้อดีของการใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางการสื่อสารการเรียนการสอน ผู้เขียนใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางในการสื่อสาร 3 รูปแบบ คือ การโพสต์ (Post) การแบ่งปัน (Share) และการแสดงความคิดเห็น (Comment) การโพสต์ข้อความของครูผู้สอนในแต่ละข้อความ ครูต้องการแจ้งให้นักเรียนทราบถึงข้อกำหนดในการเรียนของแต่ละรายวิชา รวมถึงเอกสารประกอบการเรียน ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อนักเรียนอย่างยิ่ง การอัพโหลดเอกสาร  การอธิบายเพิ่มเติมเป็นข้อความประกอบการโพสต์ ทำให้นักเรียนก็สามารถโหลด เอกสารได้ทันทีสะดวกรวดเร็ว นักเรียนสามารถโพสต์ข้อความเพื่อสอบถามปัญหา และข้อสงสัย ครูผู้สอนสามารถใช้เป็นหลักฐานในการตรวจเช็ควัน และเวลาในการส่งงานได้ สรุปได้ว่านักเรียนรับทราบ ในการโพสต์ข้อความต่าง ๆ การโพสต์ข้อความเพื่อตั้งคำถามในสิ่งที่นักเรียนไม่ทราบและต้องการทราบข้อเท็จจริงแต่ไม่กล้าสอบถามผู้สอนในห้องเรียน จึงใช้ช่องทางการสื่อสารนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้


ภาพที่ 1 ตัวอย่างการโพสต์นัดหมายเพื่อให้นักเรียนเข้าร่วมฟังทอล์คโชว์


ภาพที่ 2 ตัวอย่างการโพสต์เพื่อเชิญชวนให้นักเรียนได้ลงทะเบียนกิจกรรมชุมนุมออนไลน์

ส่วนการแบ่งปันรูปภาพ (Share) ข่าวสารหรือไฟล์วีดีโอเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้แก่นักเรียน เป็นการแบ่งปันที่แฝงด้วยองค์ความรู้และข้อคิด



ภาพที่ 3 ตัวอย่างการแบ่งปันข่าวสารเพื่อเชิญชวนให้นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าร่วมกิจกรรม


ภาพที่ 4 ตัวอย่างการแบ่งปันวีดีโอเพื่อให้ระลึกถึงพระคุณครูในวันไหว้ครู-การโพสต์เพื่อเชิญชวนให้นักเรียนลงทะเบียนกิจกรรมชุมนุมออนไลน์

การแสดงความคิดเห็น (Comment) ระหว่างนักเรียนและผู้สอน ส่วนใหญ่เป็นการถามและตอบคำถามถึงปัญหาที่นักเรียนเกิดความสงสัยเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจน และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและผู้สอนได้อย่างต่อเนื่อง  ให้เห็นถึงความเอาใจใส่ต่อนักเรียน ทำให้ทั้งครูผู้สอนและนักเรียนมีการแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นเพิ่มเติมจากในห้องเรียน เป็นการเพิ่มช่องทางทางการสื่อสาร และใช้สื่อให้เป็นประโยชน์มากขึ้น  (การใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางการสื่อสารการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ ใน วารสารนิเทศศาสตร์ ธุรกิจบัณฑิตย์ 2556, 79) 


ภาพที่ 5 ตัวอย่างการขอโหวตความคิดเห็นของนักเรียน


ภาพที่ 6 ตัวอย่างการขอแสดงความคิดเห็นของนักเรียนในการสร้างเว็บไซต์

ข้อเสียของเฟซบุ๊คในการเรียนการสอน เนื่องจากเฟสบุ๊คคือการขยายเครือข่ายทางสังคมในโลกอินเตอร์เนต มีการเพิ่มเพื่อนเครือข่ายที่ไม่รู้จัก จะทำให้เกิดการลักลอบขโมยข้อมูล เด็กๆที่ใช้เวลาในการเล่น เฟสบุ๊ค มากเกินไป จะทำให้เสียการเรียน มีการสร้างความผูกพันและการปรับตัวทางสังคมเป็นการพบปะกันในโลกอินเตอร์เน็ตมากกว่าความจริง เฟสบุ๊คเป็นแรงขับให้มีการพบปะทางสังคมในโลกแห่งความเป็นจริงที่น้อยลงได้ การไม่ได้เผชิญหน้าเพื่อพูดคุยกัน อาจทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น การสั่งงานของครูผู้สอน  ดังนั้นผู้อยู่ในโลกของไซเบอร์มากเกินไปอาจทำให้มีปัญหาทางจิตหรือขาดการปรับตัวทางสังคมที่ดี โดยเฉพาะผู้ที่ชอบเล่นเฟสบุ๊ค ตั้งแต่ยังเด็ก นโยบายของบางโรงเรียน บางมหาวิทยาลัย บางครอบครัวหรือในบางประเทศมีปัญหามากมายที่เกิดจากเฟสบุ๊ค ทำให้เฟสบุ๊คไม่ได้รับการอนุญาตให้มีในหลายพื้นที่ (ข้อดีและข้อเสียของเฟสบุ๊คกับลูกในช่วงวัยรุ่น, 2553)

นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีเด็กนักเรียนใช้เฟสบุ๊คแสดงออกในทางที่ผิด เนื่องจากผู้เขียนเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้บริการเฟสบุ๊คในการเรียนการสอน ผู้เขียนมี 2 บัญชี บัญชีแรกใช้เป็นช่องทางในการติดต่อ สื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างบุคคลที่รู้จัก และบัญชีที่สองใช้ในการสื่อสารการเรียนการสอน ผู้เขียนเฝ้าสังเกตพฤติกรรมนักเรียนที่ใช้เฟสบุ๊คของนักเรียน พบว่า มีกลุ่มนักเรียนที่ใช้เป็นช่องทางมุ่งแสดงความคิดเห็นทัศนะของตนเอง หรือ การพรรณนา เช่น พรรณนาตัวเอง รำพึงรำพันตนเอง หรือ ความรัก ฯลฯ อาจเป็นข้อความสั้นๆ หรือ บทกลอน แต่สังเกตได้ว่า นักเรียนเหล่านี้ ใช้ภาษาที่ผิดตามหลักภาษาไทย และอีกหนึ่งกลุ่มคือกลุ่มนักเรียนที่เก็บกดหรือกลุ่มที่อยากแสดงความสามารถคือ ใช้เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ ระบายอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง ใช้สื่อเป็นช่องทางปลดปล่อยเรื่องบางเรื่องที่พูดไม่ได้



ภาพที่ 7 ตัวอย่างการใช้เฟสบุ๊คแสดงออกในทางที่ผิดกล่าวคือ การเขียนสะกดคำผิดตามหลักภาษาไทย


ภาพที่ 8 ตัวอย่างการใช้เฟสบุ๊คแสดงออกในทางที่ผิดกล่าวคือ การเขียนสะกดคำผิดตามหลักภาษาไทย


ภาพที่ 9 ตัวอย่างการใช้เฟสบุ๊คแสดงออกในทางที่ผิดกล่าวคือการระบายอารมณ์ ความรู้สึกของตัวเอง

การป้องกันรักษาความปลอดภัยในการเล่น เฟสบุ๊ค ในอันดับแรกที่ควรทำ มีดังนี้
          1. การตั้งรหัสผ่าน ควรตั้งรหัสผ่านที่ยากต่อการคาดเดาและควรผสมระหว่างตัวอักษร ตัวเลข และสัญลักษณ์
          2. การระบุวันเดือนปีเกิด ให้เพื่อน ๆ เข้ามาร่วมอวยพร และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำการตลาดของธุรกิจ แต่ในทางกลับกันก็อาจมีผู้ไม่ประสงค์ดี นำข้อมูลไปใช้ในทางเสียหายได้ ฉะนั้นไม่ควรระบุอายุ หรือปีเกิดที่ชัดเจนจนเกินไป
          3. การตั้งค่าความปลอดภัยให้ข้อมูล ควรตั้งค่าการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เพราะเพื่อนในเฟสบุ๊ค อาจไม่ทุกคนที่รู้จักสนิทสนม
          4. การคิดก่อนโพสต์ ระวังภัยร้ายจากผู้ไม่ประสงค์ดี เช่น ไม่ควรระบุหรือบอกว่า กำลังออกจากบ้าน”, “ไม่มีใครอยู่บ้าน, “อยู่คนเดียวเพราะนี่อาจเป็นช่องทางที่ทำให้ภัยร้ายเข้ามาคุกคามถึงตัวได้อย่างง่ายดาย
          5. การตรวจสอบการเล่นของบุตรหลาน ตรวจสอบการเล่นเฟสบุ๊ค ของบุตรหลานอยู่เสมอ อาจเข้าไปร่วมเป็นเพื่อนด้วย เพื่อคอยดูความเคลื่อนไหวและเรียนรู้พร้อมทั้งเป็นการปรับตัวเข้าหาเด็กไปในตัวด้วย ซึ่งนับเป็นช่องทางที่ใช้ติดตามลูกหลานได้ดีกว่าการสอบถามตัวเด็กเองอีกด้วย (FACEBOOK LINE INSTAGRAM 2557, 19)

ครูผู้สอนใช้เฟสบุ๊คเป็นช่องทางในการสื่อสารกับนักเรียนโดยผ่านตัวกลางคอมพิวเตอร์หรือเครื่องมือสื่อสารที่สามารถใช้งานด้าน มัลติมีเดีย เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นสื่อที่อิสระและเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น ให้กับผู้รับสารและส่งสาร ทั้งด้านการนำเสนอเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ เนื้อหา เพราะสื่ออินเทอร์เน็ตไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ระยะทาง นอกจากนี้ยัง สามารถนำเสนอเรื่องราวข้อมูล และสารสนเทศต่างๆได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ภาพกราฟฟิก รวมถึงคลิปเสียง ครูผู้สอนจึง เลือกเฟสบุ๊คเป็นช่องทางในการสื่อสารการเรียนการสอน หากแต่ครูผู้สอนควรเอาใจใส่ดูแลนักเรียนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นซึ่งนิยมท่องโลกอินเตอร์เน็ต ให้มีความระมัดระวังและมีวิจารณญาณในการเล่นเฟสบุ๊คมากยิ่งขึ้น เพราะเฟสบุ๊ค นั้นเป็นทั้งสื่อที่มีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ในเวลาเดียวกัน


เอกสารอ้างอิง
รุ้ง ศรีอัษฎาพร. (2558). บุคลิกภาพและความสามารถในการสื่อสารจากวัยเด็กสู่วัยทำงาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
คลาร่า ชีห์. (2554). The Facebook Era ยุคแห่งเฟซบุ๊ค. กรุงเทพฯ : ประพันธ์สาส์น.
ปวีณา มีป้อง, ภวรัญชน์รัตน์ ภู่วิจิตร์และนวอร แจ่มขำ. (2557) FACEBOOK LINE INSTAGRAM. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โปรวิชั่น.
ธนัญญา สินมหัต. (2552). สนุกกับเฟสบุ๊ค. นนทบุรี : ไอดีซี อินโฟ ดิสทริบิวเตอร์ เซ็นเตอร์.
แอนณา อิ่มจำลอง และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิไลวรรณ  จงวิไลเกษม. (2556). การใช้เฟซบุ๊คเป็นช่องทางการสื่อสารการเรียนการสอนด้านนิเทศศาสตร์ ใน วารสารนิเทศศาสตร์ ธุรกิจบัณฑิตย์ หน้า 76 เข้าถึงจาก http://www.dpu.ac.th/commarts/journal/upload/issue/t4X8ZoN6xw.pdf, 1 ตุลาคม 2559
สุพาพร เทพยสุวรรณ. (2553). ข้อดีและข้อเสียของเฟสบุ๊คกับลูกในช่วงวัยรุ่น ใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ เข้าถึงจาก http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9530000133569, 14 ตุลาคม 2559